โลโก้สำนักวิชา
หม้อข้าว หม้อแกงลิง สายพันธ์ุใหม่

นักวิจัยทางพืชศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ค้นพบ “หม้อข้าวหม้อแกงลิง” 2 ชนิดใหม่ของโลก พบในเทือกเขากระบี่-นครศรีธรรมราช ตั้งชื่อ เสืออำพล และ เสือนคร
.
รองศาสตราจารย์ ดร. พจมาลย์ สุรนิลพงศ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และนักวิจัยด้านพืชศาสตร์ มวล. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนพร้อมด้วยทีมนักวิจัยของมวล. ได้ค้นพบต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงเพิ่มใหม่อีก 2 ชนิด ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกพร้อมได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Kew Bulletin ของสวนพฤษศาสตร์คิว (Official Journal of the Royal Botanic Gardens, Kew) ประเทศอังกฤษแล้ว
.
โดยหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดแรก พบบนเทือกเขาชวาปราบ ในจังหวัดกระบี่ ทีมวิจัยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า นีเพนธีส เฮอเทลล่า (Nepenthes hirtella) มีชื่อทั่วไปว่า Tiger Ampown หรือ เสืออำพล
.
ส่วนอีกหนึ่งชนิดพบบนเทือกเขาหลวง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งชื่อว่า นีเพนธีส บราทีโอซ่า (Nepenthes bracteosa) เรียกทั่วไปว่า Tiger Nakhon หรือเสือนคร ทำให้ ณ ปัจจุบันประเทศไทยมีหม้อข้าวหม้อแกงลิงทั้งหมด 16 ชนิด 1 สายพันธุ์
.
รองศาสตราจารย์ ดร. พจมาลย์ กล่าวว่า หลังจากนักวิจัยได้รับทราบข้อมูลว่ามี “หม้อข้าวหม้อแกงลิง” ชนิดใหม่ ทีมสำรวจได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลตัวอย่าง เพื่อนำมาดูลักษณะทางด้านพฤกษศาสตร์ ตั้งแต่รูปร่าง ลักษณะ และขนาดของตัวหม้อ ปีกบนตัวหม้อ ขน ปากใบ แผ่นปิดที่ปากใบ รวมทั้งดูลักษณะของช่อดอกตัวผู้และช่อดอกตัวเมีย หลังจากนั้นได้นำใบมาสกัดดีอ็นเอ เพื่อจำแนกความแตกต่างของหม้อข้าวหม้อแกงลิงแต่ละชนิด เพื่อเปรียบเทียบและยืนยันว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่พบเป็นชนิดใหม่ของโลกจริงหรือไม่ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุล AFLP
.
ซึ่งจากผลการเปรียนเทียบลักษะทางพฤษศาสตร์และผลจากดีเอ็นเอยืนยันว่า หม้อข้าวหม้อแกงลิงทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว แตกต่างจากพืชในสกุลหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่นๆ ที่พบมาก่อนหน้านี้ในประเทศไทย และมีความแตกต่างกันมากพอที่จะจัดให้เป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดใหม่ได้ รวมทั้งมีความแตกต่างจากหม้อข้าวหม้อแกงลิง ชนิด Nepenthes krabiensis (เนเพ็นเดส กราเบียนสิส) ซึ่งนักวิจัยได้พบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก เป็นชนิดแรกในปี พ.ศ. 2558 ด้วยหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่พบทั้ง 3 ชนิดนี้มีลักษณะพิเศษที่ค้นพบบนตัวหม้อคือ มีจุดประคล้ายกับลายเสือจึงได้จัดให้ชื่อมีคำว่า “เสือ” ดังกล่าว
.
รองศาสตราจารย์ ดร. พจมาลย์ กล่าวต่อไปอีกว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำการศึกษาเรื่องชนิดและสายพันธุ์ “หม้อข้าวหม้อแกงลิง” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพืชชนิดนี้มีการกระจายตัวอยู่ในประเทศแถบอินโดจีน ได้แก่ จีน เวียดนาม ลาวกัมพูชา ไทย มาเลเซียอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยพบหม้อข้าวหม้อแกงลิงกระจายตัวตามภูเขาสูง หรือที่ราบลุ่มที่มีความชื้น และแสงแดดพอประมาณทั่วทุกภาคของประเทศ ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกรวมถึงภาคใต้และด้วยภาคใต้ของประเทศไทยมีสถาพอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหม้อข้าวหม้อแกงลิงทำให้พบหม้อข้าวหม้อแกงลิงหลายชนิดในภาคใต้
.
“หม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชอนุรักษ์ถูกจัดอยู่ในบัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาไซเตส ซึ่ง 2 ชนิดที่พบใหม่อยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์ วิธีการอนุรักษ์จะใช้การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด การปักชำกิ่ง หรือเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ อย่างไรก็ตามปัจจุบัน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รวบรวม สายพันธุ์ “หม้อข้าวหม้อแกงลิง” กว่า 20 ชนิดไว้ที่อุทยานพฤกษศาสตร์ ซึ่งจะเปิดให้เข้าศึกษาเยี่ยมชมได้ในเร็วๆ นี้”รองศาสตราจารย์ ดร. พจมาลย์ กล่าวในตอนท้าย
.
ข่าวโดย นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ที่มา https://www.wu.ac.th/th/news/20397?fbclid=IwAR3duWegngwMxyZLsbMlMuiHrnjmCRUHGR6RSY1FGiuL84OE5UJHOb6QxDg