โลโก้สำนักวิชา

ผศ.ดร.สถาพร ดิเรกบุษราคม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร ดิเรกบุษราคม อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และหัวหน้าศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านกุ้ง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มุ่งมั่นกับงานสอนจนได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ “อาจารย์ดีเด่นด้านการเป็นครู” ขณะเดียวกันก็สนใจศึกษาวิจัยและเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคสัตว์น้ำ โดยเฉพาะโรคกุ้งและการเลี้ยงกุ้ง รวมทั้งการใช้สารสกัดจากธรรมชาติในการควบคุมโรคสัตว์น้ำ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร เป็นชาวกรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาประมง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขา Fisheries Sciences จากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งนักวิชาการประมง สังกัดสถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งแห่งชาติ กรมประมง แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยด้านสัตว์น้ำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการเรียนการสอน ในปี พ.ศ. 2542 จึงได้มาเป็นอาจารย์สอนทางด้านประมง สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร มีกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ มีการเตรียมการสอน เอกสารและสื่อประกอบการสอน ที่สำคัญใช้วิธีการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีการติดตามผลการเรียนของนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง อบรมสั่งสอนนักศึกษาให้มีกำลังใจด้านการเรียน การพัฒนาตนเองให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง เช่น จัดหารุ่นพี่ที่มีผลการเรียนดีมาสอนนักศึกษารุ่นน้องที่มีปัญหา ทำให้นักศึกษาสามารถเข้าใจและมีผลการเรียนดีขึ้นตามลำดับ มีการนำผลงานวิจัยและการบริการวิชาการมาใช้ประกอบการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังสอนให้นักศึกษาสามารถคิดวิเคราะห์ และได้สอดแทรกข้อคิดต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้มีคุณธรรมและจริยธรรม พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแนะนำ กรณีนักศึกษามีปัญหาส่วนตัวก็พร้อมให้คำปรึกษา ชี้แนะ จนสามารถแก้ปัญหานั้นๆ ให้ลุล่วงไปได้ ส่วนนักศึกษาที่มีศักยภาพก็ได้ประสานและจัดหาทุนเรียนต่อและทุนการวิจัยทางด้านการเกษตรในประเทศญี่ปุ่นให้อีกด้วย

ด้วยความเป็นแบบอย่างของการเป็นครูที่โดดเด่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร จึงได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นอาจารย์ดีเด่นด้านการเป็นครู มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปี 2554 เข้ารับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2554

แม้ว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร จะมีความมุ่งมั่นในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษา แต่ก็ยังคงทำงานวิจัยควบคู่ไปด้วย โดยเน้นเกี่ยวกับกุ้งและสัตว์น้ำเป็นหลัก อาทิเช่น การค้นหาสาเหตุของโรคหัวเหลือง ตัวแดงดวงขาวในกุ้งกุลาดำ การใช้แบคทีเรียและแพลงก์ตอนในการควบคุมโรคกุ้ง อาหารที่พัฒนาระบบสืบพันธุ์พ่อแม่กุ้ง การใช้สมุนไพรในการควบคุมโรคสัตว์น้ำ การพัฒนาเทคนิค Real-time PCR ในการตรวจเชื้อไวรัสในหอยนางรม และโปรไบโอติค เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้จดอนุสิทธิบัตร “สูตรอาหารสำหรับใช้เลี้ยงเพรียงทราย” และ “ปุ๋ยที่ใช้ในการเลี้ยงคีโตเซอรอล” อีกด้วย

ด้วยความสนใจในการศึกษาและค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับกุ้งมาตลอดนับตั้งแต่สำเร็จการศึกษา ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกุ้ง โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น

1. Japan International Cooperation Agency (JICA) เรื่อง Health Management and Disease Control in Shrimp
2. ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTECH) เรื่อง โครงการจัดตั้งหน่วยกักกันโรคกุ้ง
3. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เรื่อง
a. การศึกษาการใช้สาหร่ายทะเลในการป้องกันโรคไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้งทะเล
b. โครงการพัฒนาการใช้ไรแดงดองเกลือในการอนุบาลลูกกุ้งกุลาดำ
c. การศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดฟลอคและประสิทธิภาพของฟลอกในการควบคุมโรคไวรัสในกุ้ง
4. IRPUS (Industrial and Research Projects for Undergraduate Students) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง
a. ผลการเสริมแพลงก์ตอนพืชต่อการพัฒนาไข่ของแม่กุ้งกุลาดำ
b. ผลการเสริมแพลงก์ตอนพืชในอาร์ทีเมียต่อการเจริญเติบโตของลูกกุ้งกุลาดำ
5. สำนักงานสนับสนุนการวิชัยแห่งชาติเรื่อง การใช้สาหร่ายสไปรูไลนาในการควบคุมโรคตัวแดงดวงขาวในกุ้งกุลาดำ

มีผลงานวิชาการและวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติมากกว่า 40 เรื่อง ระดับนานาชาติกว่า 20 เรื่อง และนำเสนอผลงานในที่ประชุมระดับชาติและนานาชาติอีกมากกว่า 30 เรื่อง

นอกจากด้านการสอนและการวิจัยแล้ว ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกุ้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร ยังรับหน้าที่เป็น “หัวหน้าศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านกุ้ง” ร่วมกับคณาจารย์ด้านสัตว์น้ำจากสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ดำเนินการวิจัยทางด้านพ่อแม่พันธุ์และการเพาะเลี้ยงกุ้ง ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งกุ้งทะเล และกุ้งน้ำจืด ได้แก่ กุ้งกุลาดำและกุ้งก้ามกราม โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสายพันธุ์กุ้งที่แข็งแรงและปลอดโรค พัฒนาเทคนิคการเลี้ยงกุ้งให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ทั้งในเรื่องการจัดการระบบน้ำ สูตรอาหาร พัฒนาโปรไบโอติคที่ใช้ในการควบคุมโรคขี้ขาว ศึกษาสาเหตุของโรค EMS และแนวทางแก้ไข พร้อมทั้งนำผลการวิจัยไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง มีการสร้างนวัตกรรม เช่น สูตรปุ๋ยเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กคุณภาพสูง โปรไบโอติก อาหารพ่อและแม่กุ้ง ที่เกษตรกรและผู้เลี้ยงกุ้งสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้บริการตรวจสอบคุณภาพพันธุ์กุ้ง และ เครื่องหมายดีเอ็นเอที่ใช้ในการคัดเลือกพันธุ์ วินิจฉัยโรคด้วยเทคนิค Real time PCR โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน การจัดประชุมวิชาการกุ้งทะเลแห่งชาติ และการวิจัย จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านการวิจัยกับองค์กรทั้งภายในและต่างประเทศ อาทิเช่น
1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. Hokkaido University
4. Tokyo University of Marine Science and Technology-
5. National Taiwan University

ปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร ดิเรกบุษราคม ยังคงมีงานวิจัยที่ดำเนินการอยู่ เช่น โครงการพลิกฟื้นนากุ้งร้าง การพัฒนาปลานิลทนโรคสเตรปโตคอคโคซิส โดยใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ด้วยเครื่องหมายโมเลกุล และเรื่อง Development of Aquaculture Technology for Food Security and Food Safety in the Next Generation

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการถ่ายทอดความรู้และศึกษาค้นคว้างานวิจัยทางด้านสัตว์น้ำทั้งในฐานะอาจารย์และนักวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร ดิเรกบุษราคม ทำให้มั่นใจได้ว่า สัตว์น้ำโดยเฉพาะกุ้งจะยังคงเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://ird.wu.ac.th