โลโก้สำนักวิชา

รศ.ดร.นฤมล มาแทน อาจารย์สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ได้ค้นพบกลไกในการควบคุมไอระเหยของน้ำมันหอมระเหยเพื่อนำมาใช้ในการชะลอการเสื่อมเสียของผลไม้ในระหว่างการส่งออก

นักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ ค้นพบกลไกในการควบคุมไอระเหยของน้ำมันหอมระเหยเพื่อนำมาใช้ในการชะลอการเสื่อมเสียของผลไม้ในระหว่างการส่งออก

ทีมนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย นางสาวสิริพร แช่มสนิท นักศึกษาปริญญาเอกของหลักสูตรอุตสาหกรรมเกษตร (วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร) รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และรองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน ได้ค้นพบกลไกในการควบคุมไอระเหยของน้ำมันหอมระเหยเพื่อนำมาใช้ในการชะลอการเสื่อมเสียของผลไม้ในระหว่างการส่งออก โดยหัวข้อวิจัยนี้มีบริษัทเอกชนได้ร่วมทุนวิจัยภายใต้โครงการพัฒนานักวิจัยและผลงานเพื่ออุตสาหกรรม จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

นักวิจัยได้คิดค้นการนำไอธรรมชาติของน้ำมันหอมระเหยมาเก็บกักไว้ในถ่านกัมมันต์ ก่อนนำถ่านกัมมันต์นั้นมาใช้ในการยืดอายุการเก็บรักษาวัตถุดิบทางการเกษตรรวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ต้านเชื้อรา  ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของลังผลไม้ในการขนส่ง บรรจุภัณฑ์อาหารที่สัมผัสโดยตรงกับผลไม้ หรือการใช้ไอระเหยนี้ในการควบคุมบรรยากาศในตู้ขนส่งผลไม้ ซึ่งทางบริษัทเอกชนได้เห็นประโยชน์ในการผลิตผงถ่านกัมมันต์ที่มีการปลดปล่อยไอระเหยและให้กลิ่นหอม พร้อมทั้งมีคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อรา ยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้บางประเภทได้ จึงให้การสนับสนุนในการร่วมวิจัยเพื่อผลิตสินค้านี้ออกจำหน่ายสู่ตลาดสินค้าเกษตร เพื่อยืดอายุสินค้าเกษตร เช่น ตลาดข้าว ตลาดผักและผลไม้ อีกทั้งวิธีการที่ค้นพบนี้ยังเป็นระบบที่ง่าย สามารถใช้ได้จริงเชิงการค้า เพราะใช้ต้นทุนผลิตต่ำ ทั้งนี้ยังพบว่ารสชาติของผลไม้ที่ผ่านการเก็บรักษาด้วยการใช้วิธีนี้มีรสชาติไม่แตกต่างจากผลไม้ตามธรรมชาติอีกด้วย (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 ผลแก้วมังกรที่เก็บรักษาไว้ภายใต้ไอของน้ำมันหอมระเหย (ก) และ เก็บรักษาโดยไม่มีไอของน้ำมันหอมระเหย (ข) เป็นเวลา 14 วัน

สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยเพื่อชะลอการเสื่อมสภาพของผลไม้ สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่บทความวิจัยด้านล่างนี้

Siriporn Chaemsanit, Narumol Matan and Nirundorn Matan. 2018. Effect of peppermint oil on the shelf-life of dragon fruit during storage. Food Control 90: 172-179. (ISI, Q1: Impact factor: 3.388)

รายละเอียดเพิ่มเติม  https://essentialoil.wu.ac.th/?p=2745